อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน
แม้แต่องค์พระปฏิมายังราคิน คนเดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา
นินทา สรรเสริญ เป็sนธรรมประจำโลก เป็นเหมือนฝาแฝด ไปไหนมักไปคู่กัน ไม่เคยมีใครในโลกนี้แม้สักคนเดียวเช่นกันที่ได้รับแต่คำนินทา ฉะนั้นคนที่เกิดมาแล้วย่อมถูกนินทาและสรรเสริญควบคู่กันไป แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังหนีไม่พ้น นับประสาอะไรกับผู้ที่ยังเป็นปุถุชนคนธรรมดาอย่างเรา
เรื่องนี้ พระพุทธองค์ท่านสอนให้วางท่าทีให้ถูกต้องเมื่อใดก็ตาม ที่เราได้ยินได้ฟังเสียงนินทาสรรเสริญของผู้อื่นที่มีต่อเรา เมื่อนั้นเราก็ต้องรู้จักพิจารณาด้วยใจที่เป็นกลางโดยปราศจากอคติ และพิสูจน์ทราบด้วยตนเองให้ได้ว่า ความคิดเห็นนั้นเป็นจริงหรือไม่ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน พรหมชาลสูตร ว่า...
สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินทางไกลระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ในครั้งนั้นสุปปิยปริพาชกกับ พรหมทัตตมาณพผู้เป็นศิษย์ ก็ได้เดินทางไกลในเส้นทางเดียวกันตามหลังมาห่างๆ ระหว่างทางนั้น อาจารย์กับศิษย์ได้โต้เถียงกัน คือ อาจารย์กล่าวติพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ส่วนศิษย์กล่าวชม เมื่อถึงเวลากลางคืนภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันถึงเรื่องศิษย์อาจารย์กล่าวแย้งกันในเรื่องสรรเสริญ ติเตียนพระรัตนตรัย
ในเวลานั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จมาถึง ทรงประทับนั่งที่อาสนะที่จัดปูไว้ แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “กำลังสนทนาเรื่องอะไรกันอยู่” ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องราวดังกล่าวให้ทราบ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
“ ภิกษุทั้งหลาย ถึงคนอื่นจะมากล่าวติเตียนเรา ติเตียนพระธรรม ติเตียนพระสงฆ์ พวกเธอก็ไม่ควรผูกอาฆาตคับแค้นใจเพราะถ้าพวกเธอเคืองหรือไม่พอใจในคำติเตียนนั้น พวกเธอจะประสบอันตราย และพลอยไม่รู้ว่าที่เขากล่าวติเตียนนั้นถูกหรือผิด ถ้าป็นเรื่องไม่จริง เธอก็ควรพิสูจน์ด้วยตนเองว่า เรื่องนี้ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่เคยมีปรากฏในพวกเรา "
ส่วนถ้ามีใครกล่าวชื่นชมเรา ชื่นชมพระธรรม ยกย่องพระสงฆ์ พวกเธอก็ไม่ควรยินดีจนออกนอกหน้า เพราะถ้าพวกเธอหลงชื่นชมพอใจในคำยกย่องนั้น พวกเธอก็จะประสบอันตราย ถ้าคำชมนั้นเป็นเรื่องจริง เธอก็ควรพิสูจน์ทราบด้วยตนเองว่า จริงอย่างไร เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น และพวกเราเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่”
เราจะเห็นได้ว่า เสียงนินทาสรรเสริญมีมาทุกยุคทุกสมัย เราไม่ควรนำมาเป็นอารมณ์ ควรถือว่า นั่นเป็นเหมือนสัญญาณเตือน ให้เราย้อนกลับมาพิจารณาสำรวจตนเองว่าสิ่งที่คนอื่นติเตียนเราอยู่นั้น เราเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ ถ้าจริงเราก็ควรปรับปรุงแก้ไข แต่ถ้าไม่จริงเราก็ควรทำใจเป็นกลางและตั้งใจทำความดีต่อไป ถ้าทำได้เช่นนี้ เสียงนินทาสรรเสริญก็จะเป็นเพียงสื่อให้เราได้ศึกษา หรือเป็นมิเตอร์วัดความสั่นสะเทือนของใจเรานั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น